วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระอุปคุต คาถาบูชาพระอุปคุต

คาถาบูชาพระอุปคุต

อุปะคุตโต จะ มหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มหาเถโร นะมัสสิตตะวา ปะติฎฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มหาเถรัง ยัง ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุฯ


ประวัติพระอุปคุตมหาเถระ โดยพ.ธรรมรังสี

อภินิหารแห่งพระอุปคุตนอกเหนือจาก พระมหากัจจยนะ พระสีวลี เป็นพระที่นิยมสักการะบูชาเพื่อหวังผลทางด้านโชคลาภและความมั่งคั่งร่ำรวย พระอุปคุต ก็เป็นหนึ่งในความเชื่อของชาวพุทธมาแต่โบราณ ทั้งในประเทศพม่า มอญ ล้านนา และในภาคเหนือของไทย มีคำกล่าวขานกันว่าชาวเมืองรางกูณผู้หนึ่งได้ตักบาตรพระอุปคุตแล้วร่ำรวยเป็นเศรษฐี ชาวเมืองจึงนิยมหุงหาอาหารเพื่อจะได้ตักบาตรพระอุปคุต และนิยมทำสืบกันมา ในจังหวัดเชียงใหม่ผู้คนนิยมมาตักบาตรในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธกันที่วัดพระอุปคุต เพราะถือกันมาว่าพระอุปคุตจะมารับบิณฑบาต และถือกันเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ แม้มิได้ตักบาตรพระอุปคุต เพียงแต่ได้ทำการสร้างรูปพระอุปคุตไว้สักการะบูชาก็จะเกิดผลานิสงฆ์ดุจเดียวกัน


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชาวพม่า รามัญ และคนไทยภาคเหนือจึงพากันสร้างรูปพระอุปคุตไว้สักการบูชา และได้สร้างรูปท่านตามจิตนาการและตามความรู้ความสามารถ เราจึงได้เห็นพระอุปคุตในรูปลักษณะที่แตกต่างกันหลายรูปแบบไม่ว่าจะมีรูปแบบใดก็ตาม ก็จะมีสัญลักษณ์ของท่านคือการที่ท่านได้ จำพรรษาอยู่กลางสะดือทะเล จึงมักจะมีพระเศียรคลุมด้วยใบบัว โดยเฉพาะฐานด้านหน้า ด้านหลัง และใต้ฐานจะมีรูป กุ้ง หอย ปู ปลา ใบบัว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าพระรูปนี้คือพระอุปคุต อันมีวิหารแก้วประดิษฐานอยู่ กลางเกษียรสมุทร หรือ สะดือทะเล
รูปพระอุปคุต เมื่อก่อนนิยมสลักเสลาขึ้นมาจากไม้พระศรีมหาโพธิ์นิพพาน หรือต้นที่กิ่งชี้ไปทางทิศตะวันตก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนี่งว่า พระทักขิณสาขา อีกอย่างหนึ่งทำด้วยเกสรดอกไม้ และผงขี้ธูปที่บูชาพระนำเอามาผสมผสานรวมกัน มียางรักเป็นตัวประสาน บ้างผสมด้วยขี้ครั่งอย่างนี้เป็นต้นเรียกว่า “ปานปอง” ซึ่งแปลว่า รวมกัน หรือ รวมกาย
บางองค์ก็ทำเป็นปุ่มปม มีตุ่มนูนตามหน้าผาก หน้าอก และทั่วพระวรกายนิยมเรียกว่า เข็ม มี ๓ เข็ม ๕ เข็ม ๗ เข็ม และ ๙ เข็ม เชื่อว่าแต่เดิมนั้นตามตุ่มที่ฝังเข็มนั้นเป็นช่องที่บรรจุพระธาตุและพระบรมธาตุ กล่าวกันว่ายิ่งมากเข็มเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น คนส่วนมากจึงมักนิยมแสวงหาพระบัวเข็มที่มีหลาย ๆ เข็ม
พระบัวเข็ม อาจแบ่งเป็นลักษณะใหญ่ ๆ ได้เป็น ๗ ประเภทด้วยกันคือ
๑. ทำเป็นปางมารวิชัย ประทับนั่งก้มหน้า ทรงจีวร
๒. ทำอย่างห่มคลุม หรือ คลุมโป่ง
๓. ทำอย่างฉันภัตตาหาร หรือ จกบาตร
๔. ทำอย่างปรกงูหรือ ปรกมังกร อย่างศิลปะช่างจีน
๕. ทำอย่างทรวดทรงดี มือซ้ายถือบาตร มือขวาถือดอกบัว
๖. ทำอย่างขดอยู่ในเปลือกหอย ห้อยลูกประคำ มือขวาถือดอกบัว
๗. ทำอย่างพระกริ่ง ห้อยลูกประคำ มือซ้ายถือบาตร มือขวาถือดอกบัว

ซึ่งทุกลักษณะจะมีใบบังปกคลุมศีรษะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ด้วยกันทั้งสิ้นด้วยเหตุที่ ท่านจำศีลอยู่กลางสะดือทะเลตามตำนานดังกล่าว ดังนั้นท่านที่เคารพบูชาในพระมหาอุปคุต จึงตกแต่งฐานที่ประทับของท่านให้ประทับอยู่ในภาชนะหรือพานรอง ที่ลอยหรือล้อมรอบด้วยน้ำอันเต็มบริบรูณ์ดังประหนึ่งว่า พระองค์ท่านจำศีลอยู่ในทะเล และลอยด้วยดอกมะลิอันมีกลิ่นหอม พร้อมบูชาด้วยพระคาถา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น