วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องราวของท่านพระอุปคุตมหาเถระ

เรื่องราวของท่านพระอุปคุตมหาเถระเจ้า มีปรากฏอยู่ในพระปฐมสมโพธิกถาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดังนี้ “ เมื่อพระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทรงสร้างพระสถูปเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๘๔,000 องค์ ครั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเรียบร้อยแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะจัดการฉลองสมโภชองค์พระมหาเจดีย์ให้สมพระราชศรัทธา โดยจะจัดฉลองเป็นเวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน
ทรงเห็นว่า งานสมโภชพระมหาธาตุนี้เป็นงานใหญ่ เกรงว่าจะมีอันตรายและความขัดข้อง ทรงขอให้คณะสงฆ์หาทางช่วยป้องกัน โดยขอให้คัดเลือกพระเถระผู้สามารถมาช่วยป้องกันอันตราย พระเถรานุเถระทั้งหลายเข้าญาณพิจารณาก็ทราบด้วยญาณของตนว่า ภัยจะเกิดมีเนื่องในงานสมโภชพระมหาเจดีย์ครั้งนี้ต่างก็หาผู้ช่วยป้องกัน พระเถรานุเถระประมาณกำลังแห่งตน ก็รู้ว่าไม่สามารถและรู้ว่ามีพุทธพยากรณ์ไว้แล้วว่า ท่านพระมหาเถระอุปคุตมีหน้าที่ในการนี้โดยเฉพาะ จึงไม่มีพระเถระองค์ใดรับภาระป้องกัน พระเถระทั้งหลายจึงให้พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปผู้ทรงอภิญญาสมาสมบัติไปอาราธนาพระอุปคุต (ชื่อเต็มว่า พระกีสนาคอุปคุตมหาเถระ) มาสู่ที่ประชุม พระภิกษุ ๒ รูปนั้นจึงเข้าญาณสมาบัติระเบิดน้ำลงไปหาท่านพระอุปคุตแล้วแจ้งให้ทราบว่า “บัดนี้พระเถระทั้งหลายมีเถรบัญชาให้ข้าพเจ้าทั้งสองมาอาราธนาพระคุณท่านไปร่วมการประชุมเพื่อปรึกษางานพระพุทธศาสนา”
พระอุปคุตเถระทราบสังฆบัญชาเช่นนั้น คิดว่าจะต้องไปร่วมการประชุมในครั้งนี้ จะขัดสังฆบัญชาไม่ได้ ต้องเคารพอำนาจแห่งหมู่สงฆ์ และเป็นงานพระพุทธศาสนาด้วย ครั้งดำริดังนั้นแล้ว พระอุปคุตเถระจึงบอกภิกษุ ๒ รูปนั้น “ท่านจงกลับไปก่อนเถิด เราจะตามไปทีหลัง” พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้นกราบลาเดินทางมาก่อน พระอุปคุตจึงเข้าญาณสมาบัติมาถึงสำนักพระเถรานุเถระทั้งหลายก่อนพระภิกษุหนุ่มทั้ง ๒ รูปก่อนเสียอีก
พระสังฆเถระประชุมสงฆ์ จึงกล่าวแก่พระอุปคุตว่า “คณะสงฆ์จะลงทัณฑ์กรรมแก่ท่าน เพราะความผิดที่ท่านไม่มาร่วมสังฆกรรม ทำอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ร่วมกับคณะสงฆ์” พระอุปคุตจึงกล่าวว่า “ ข้าพเจ้ายินดีรับทัณฑกรรมที่คณะสงฆ์จะลงโทษ ขอพระคุณเจ้าแจ้งว่า จะให้ข้าพเจ้าทำประการใด”
พระสังฆเถระประชุมสงฆ์แล้วว่า “บัดนี้พระยาศรีธรรมมาโศกราชทรงปรารถนาจะทำการสมโภชพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ ๘๔,๐๐๐ องค์ที่ทรงสร้างไว้ในชมพูทวีปทั้งหมด ต้องใช้เวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ให้สมพระราชศรัทธาแต่เกรงว่า การสมโภชอันมีเกียรตินั้นจะไม่พ้นภัย เกรงพญามารจะขัดขวางทำลายไม่ให้พระราชพิธีสมโภชนั้นดำเนินไปด้วยดี พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชตรัสให้คณะสงฆ์ช่วยป้องกัน พวกเราไม่มีใครสามารถจะช่วยได้ เห็นแต่ท่านเพียงผู้เดียว

ฉะนั้น คณะสงฆ์จะลงทัณฑกรรมแก่ท่าน โดยให้ท่านรับเป็นธุระป้องกันภัยอันตรายในงานสมโภชครั้งนี้ เพราะท่านห่างเหินการปกครองของคณะสงฆ์และไม่มาร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมตามพระพุทธบัญญัติ”


พระอุปคุตจึงยอกรอัญชลีสงฆ์ ก้มลงกราบแล้วกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายินดียอมรับทัณฑกรรม” เมื่อได้ผู้ป้องกันภัยอันตรายในการบำเพ็ญกุศลแล้ว คณะสงฆ์โดยมี พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน จึงถวายพระพรให้พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราช พระองค์ทรงโสมนัสยิ่งนัก
แต่ครั้นทอดพระเนตรเห็นองค์พระอุปคุตมหาเถระเจ้าแล้วก็หนักพระทัย เพราะท่านมีร่างกายผ่ายผอม ครั้นรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นพระอุปคุตเดินไปบิณฑบาต ทรงมีพระราชบัญชาสั่งให้พนักงานเลี้ยงช้าง ปล่อยช้างตกมันไล่พระอุปคุตเพื่อทดสอบ พระอุปคุตเห็นช้างวิ่งไล่มาข้างหลัง จึงเข้าญาณสมาบัติอธิษฐานจิตให้ช้างตัวนั้นแข็งประดุจหิน ไม่อาจขยับเขยื้อนได้

พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงขอขมาและทรงพอพระทัยยิ่งนัก เกิดความเคารพนับถือพระมหาเถระอุปคุตเป็นอันมาก ครั้งได้มงคลฤกษ์จึงเริ่มบุญพิธีสมโภชพระมหาเจดีย์ตามพระราชประสงค์
ครั้นพญาวัสวดีมาราธิราช ทราบราชพิธีจึงเกิดความไม่พอใจ คิดจะทำลายพิธีนั้น จึงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้บังเกิดมหาวาตพายุอย่างร้ายแรง มีกำลังพัดมาดั่งประหนึ่งจะถล่มแผ่นดินให้ทลาย พระอุปคุตเถระเห็นอากาศวิปริตอย่างนั้นก็ทราบชัดด้วยญาณประเสริฐของท่านว่า บัดนี้พญามารมาทำลายแล้ว ท่านเข้าญาณสมาบัติโดยพลัน อธิษฐานให้เป็นลมเหมือนกัน และลมของพญามารก็พ่ายแพ้ พญามารก็แผลงฤทธิ์ขึ้นใหม่ เป็นลมกรด เป็นเพลิง เป็นทรายเพลิง เร่าร้อนด้วยไฟ และประการอื่นอีกหลายอย่าง พระอุปคุตก็เข้าญาณแก้ได้ทุกอย่าง จนพญามารเกิดโทสะแรงกล้าพยายามจะทำลายล้างพระอุปคุต ปรากฏเป็นพญามารเข้าไปใกล้พระอุปคุตมหาเถระเห็นว่าพญามารนี้เกเรมาก คอยแต่จะทำลายคนทำบุญทำกุศล คนประพฤติดีไม่ชอบ ไม่อยากเห็นความดีของผู้ใด มีปกติริษยาความดีของผู้อื่น ไม่มีใจอนุโมทนาความดีของผู้ใด พระอุปคุตจึงเนรมิตสุนัขตัวหนึ่ง มีตัวเน่าขึ้นพองมีน้ำหนองและหนอนหลั่งไหลออกมา แล้วเอาแขวนไว้ที่คอของพญามารแล้วอธิษฐานไม่ให้ผู้ใดแก้ออกได้ ฝ่ายพญามารอับอายขายหน้าเหม็นกลิ่นสุนัขเน่ายิ่งนัก จึงซมซานไปหาท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ขอร้องให้ช่วยแก้สุนัขออกจากคอ ท้าวจตุมการาชบอกว่าแก้ไม่ได้พญามารจึงไปหาเทวดาองค์อื่น ๆ จนถึงท้าวมหาพรหม ก็ไม่สามารถจะช่วยแก้ได้ ท้าวมหาพรหมจึงพูดว่า “ เราก็ช่วยท่านไม่ได้ ต้องลงไปขอขมาท่านพระอุปคุตมหาเถระ แล้วอ้อนวอนให้ท่านช่วยแก้” ดังนี้
เมื่อพญามารไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเทพเจ้าองค์ใดแล้ว จึงจำใจบากหน้ามาง้องอนอ้อนวอนพระมหาอุปคุตว่า “ช่วยแก้สุนัขออกด้วย ข้าพเจ้าขอโทษสักครั้งที่ล่วงเกินท่าน” พระอุปคุตมหาเถระทราบด้วยญาณว่า พญามารยังไม่ละพยศจริงจำต้องทรมานต่อไปให้ยิ่งกว่านี้ หาไม่พระราชพิธีสมโภชพระเจดีย์จะไม่ครบ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ดังทรงตั้งพระปณิธานไว้พระอุปคุตมหาเถระแก้ให้และสั่งพญามารให้ตามไปที่ภูเขาแล้วเอาผ้ากายพันธ์ (ผ้ารัดอก) ของท่านผูกพญามารไว้ที่ภูเขาลูกนั้น ปล่อยทิ้งไว้ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พอดีกับระยะเวลาในการสมโภช
ผ่ายพญามารนั้น แม้จะพยามดิ้นรนให้พ้นจากการถูกมัด ดิ้นเท่าไหร่ก็ไม่หลุด สุดท้ายจึงกล่าวรำพันออกมาว่า “ช่างกระไรพระเถระรูปนี้ ตัวท่านเป็นเพียงสาวกของพระพุทธองค์ ยังอวดดีมาทำร้ายเรา ผูกมัดเราให้ได้รับความลำบากแทบประดาตาย เป็นภิกษุมีใจโหดร้ายที่สุดที่มาทรมานเรา พระพุทธองค์ยังดีกว่าพระรูปนี้มากกว่าโกฎิเท่า พระองค์ยังมีพระเมตตาปราณีแก่เรา เมื่อเราได้ทำร้ายพระพุทธเจ้าตรั้งแรกตรัสรู้ กำลังประทับอยู่ที่โพธิบัลลังก์ เราพร้อมด้วยเสนามารจำนวนร้อยโกฎยกทัพมาเพื่อจะประทุษร้ายพระพุทธเจ้า แต่เราสู้บารมีไม่ได้ต้องพ่ายแพ้ภัยตัวเองเรื่องนั้นสาหัสถึงเพียงนี้ ไม่มีเลยที่พระพุทธเจ้าจะทรงกริ้วและประทุษร้ายตอบยังทรงเมตตาปราณีแก่เรา”
พญามารเมื่อตรึกครองมาถึงตรงนี้ ก็เลื่อมใสในพระบารมีธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเปล่งว่าจา อธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตด้วยสัจจบารมีที่ได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระอุปคุตมหาเถระทราบวาระจิตของพญามารดังนั้น จึงปรากฏกายเข้าไปใกล้พญามารแล้วพูดว่า “ เราแกล้งลงทัณฑ์แก่ท่าน เพื่อให้ระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า และจะได้ยกเรื่องเห็นคุณของพระพุทธเจ้าเป็นบารมีธรรม อธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพราะพระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้ว่า เราจะทรมารท่านให้ละ พยศอันร้ายกาจ และจะอธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า มีพระพุทธทำนายดังนี้ท่านอย่าโกรธเราเลย เราทำด้วยปราณี” พญามารถึงซึ่งความโสมนัสเป็นที่ยิ่งพระอุปคุตจึงเปลื้องผ้ากายพันธ์ออกจากตัวของพญามาร..”
เรื่องราวของพระอุปคุต ปรากฏตามนัยปฐมสมโพธิกถา ปริจเฉทที่ ๒๘ “มารพันธปริวรรต” เพียงเท่านี้ แต่ใน “อโศกาวทาน” ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่อายุราวสองพันกว่าปี ได้ปรากฏเรื่องราวของท่านพระอุปคุตเถระที่อาจมีความพิสดารและข้อแตกต่างจาก พระปฐมสมโพธิกาบ้าง (ย่อความนี้จากงานแปลของ ส.ศิวรักษ์)

“ข้อความในพระสูตรมีว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ดังนี้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ กรุงสาวัตถี...”

ดังนั้น ขอให้เรารำลึกถึงพระพุทธพจน์ที่ช่วยให้ดวงจิตของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสว่างขึ้น ณ ท่ามกลายแห่งบรรดาพระเถราจารย์เจ้าของเราทั้งหลาย พระพุทธดำรัสที่หลั่งออกมาจากพระโอฐษ์นั้น ดุจดังมหาเมฆกลายสภาพโปรยปรายเป็นสายฝน เพื่อชำระล้างความโสโศรก อันก่อตัวขึ้นจากโคลนตม ซึ่งได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ให้หมดสิ้นไป คำสอนของพวกเดียรถีย์ก็ปลาสนาการไปด้วยแสงแห่งปัญญา อันเกิดจากงานนิพนธ์ของพระอาจารย์เจ้าเหล่านั้น ซึ่งรจนาไว้ทั้งในทางไวยากรณ์ คัมภีร์ และตำราอื่น ๆ โดยที่ท่านเหล่านี้นได้ดื่นน้ำอันบริสุทธิ์คือพระสัทธรรมอันวิเศษ บรรลุซึ่งโลกุตตรธรรม


เรื่องของพระอุปคุตเถระ ผู้ซึ่งเป็นเอตทัคคะในบรรดาพระธรรมกถึก คำสอนของพระคุณท่านนั้น อยู่ในสถานะอันเหนือกว่าพระอินทร์ พระพรหม และเทพเจ้าอื่น ๆ พระคุณเจ้าเป็นดังวีรบุรุษ ทรงไว้ซึ่งอิทธิวิธี ฉะนั้น ขอให้เราตั้งใจสดับถ้อยคำ ที่ถ่ายทอดโดยพระอาจารย์เจ้าเหล่านั้นด้วยเถิด

พระอุปคุต คาถาบูชาพระอุปคุต

คาถาบูชาพระอุปคุต

อุปะคุตโต จะ มหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มหาเถโร นะมัสสิตตะวา ปะติฎฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มหาเถรัง ยัง ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุฯ


ประวัติพระอุปคุตมหาเถระ โดยพ.ธรรมรังสี

อภินิหารแห่งพระอุปคุตนอกเหนือจาก พระมหากัจจยนะ พระสีวลี เป็นพระที่นิยมสักการะบูชาเพื่อหวังผลทางด้านโชคลาภและความมั่งคั่งร่ำรวย พระอุปคุต ก็เป็นหนึ่งในความเชื่อของชาวพุทธมาแต่โบราณ ทั้งในประเทศพม่า มอญ ล้านนา และในภาคเหนือของไทย มีคำกล่าวขานกันว่าชาวเมืองรางกูณผู้หนึ่งได้ตักบาตรพระอุปคุตแล้วร่ำรวยเป็นเศรษฐี ชาวเมืองจึงนิยมหุงหาอาหารเพื่อจะได้ตักบาตรพระอุปคุต และนิยมทำสืบกันมา ในจังหวัดเชียงใหม่ผู้คนนิยมมาตักบาตรในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธกันที่วัดพระอุปคุต เพราะถือกันมาว่าพระอุปคุตจะมารับบิณฑบาต และถือกันเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ แม้มิได้ตักบาตรพระอุปคุต เพียงแต่ได้ทำการสร้างรูปพระอุปคุตไว้สักการะบูชาก็จะเกิดผลานิสงฆ์ดุจเดียวกัน


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชาวพม่า รามัญ และคนไทยภาคเหนือจึงพากันสร้างรูปพระอุปคุตไว้สักการบูชา และได้สร้างรูปท่านตามจิตนาการและตามความรู้ความสามารถ เราจึงได้เห็นพระอุปคุตในรูปลักษณะที่แตกต่างกันหลายรูปแบบไม่ว่าจะมีรูปแบบใดก็ตาม ก็จะมีสัญลักษณ์ของท่านคือการที่ท่านได้ จำพรรษาอยู่กลางสะดือทะเล จึงมักจะมีพระเศียรคลุมด้วยใบบัว โดยเฉพาะฐานด้านหน้า ด้านหลัง และใต้ฐานจะมีรูป กุ้ง หอย ปู ปลา ใบบัว ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าพระรูปนี้คือพระอุปคุต อันมีวิหารแก้วประดิษฐานอยู่ กลางเกษียรสมุทร หรือ สะดือทะเล
รูปพระอุปคุต เมื่อก่อนนิยมสลักเสลาขึ้นมาจากไม้พระศรีมหาโพธิ์นิพพาน หรือต้นที่กิ่งชี้ไปทางทิศตะวันตก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนี่งว่า พระทักขิณสาขา อีกอย่างหนึ่งทำด้วยเกสรดอกไม้ และผงขี้ธูปที่บูชาพระนำเอามาผสมผสานรวมกัน มียางรักเป็นตัวประสาน บ้างผสมด้วยขี้ครั่งอย่างนี้เป็นต้นเรียกว่า “ปานปอง” ซึ่งแปลว่า รวมกัน หรือ รวมกาย
บางองค์ก็ทำเป็นปุ่มปม มีตุ่มนูนตามหน้าผาก หน้าอก และทั่วพระวรกายนิยมเรียกว่า เข็ม มี ๓ เข็ม ๕ เข็ม ๗ เข็ม และ ๙ เข็ม เชื่อว่าแต่เดิมนั้นตามตุ่มที่ฝังเข็มนั้นเป็นช่องที่บรรจุพระธาตุและพระบรมธาตุ กล่าวกันว่ายิ่งมากเข็มเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น คนส่วนมากจึงมักนิยมแสวงหาพระบัวเข็มที่มีหลาย ๆ เข็ม
พระบัวเข็ม อาจแบ่งเป็นลักษณะใหญ่ ๆ ได้เป็น ๗ ประเภทด้วยกันคือ
๑. ทำเป็นปางมารวิชัย ประทับนั่งก้มหน้า ทรงจีวร
๒. ทำอย่างห่มคลุม หรือ คลุมโป่ง
๓. ทำอย่างฉันภัตตาหาร หรือ จกบาตร
๔. ทำอย่างปรกงูหรือ ปรกมังกร อย่างศิลปะช่างจีน
๕. ทำอย่างทรวดทรงดี มือซ้ายถือบาตร มือขวาถือดอกบัว
๖. ทำอย่างขดอยู่ในเปลือกหอย ห้อยลูกประคำ มือขวาถือดอกบัว
๗. ทำอย่างพระกริ่ง ห้อยลูกประคำ มือซ้ายถือบาตร มือขวาถือดอกบัว

ซึ่งทุกลักษณะจะมีใบบังปกคลุมศีรษะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ด้วยกันทั้งสิ้นด้วยเหตุที่ ท่านจำศีลอยู่กลางสะดือทะเลตามตำนานดังกล่าว ดังนั้นท่านที่เคารพบูชาในพระมหาอุปคุต จึงตกแต่งฐานที่ประทับของท่านให้ประทับอยู่ในภาชนะหรือพานรอง ที่ลอยหรือล้อมรอบด้วยน้ำอันเต็มบริบรูณ์ดังประหนึ่งว่า พระองค์ท่านจำศีลอยู่ในทะเล และลอยด้วยดอกมะลิอันมีกลิ่นหอม พร้อมบูชาด้วยพระคาถา