วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องราวของท่านพระอุปคุตมหาเถระ

เรื่องราวของท่านพระอุปคุตมหาเถระเจ้า มีปรากฏอยู่ในพระปฐมสมโพธิกถาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดังนี้ “ เมื่อพระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทรงสร้างพระสถูปเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๘๔,000 องค์ ครั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเรียบร้อยแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะจัดการฉลองสมโภชองค์พระมหาเจดีย์ให้สมพระราชศรัทธา โดยจะจัดฉลองเป็นเวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน
ทรงเห็นว่า งานสมโภชพระมหาธาตุนี้เป็นงานใหญ่ เกรงว่าจะมีอันตรายและความขัดข้อง ทรงขอให้คณะสงฆ์หาทางช่วยป้องกัน โดยขอให้คัดเลือกพระเถระผู้สามารถมาช่วยป้องกันอันตราย พระเถรานุเถระทั้งหลายเข้าญาณพิจารณาก็ทราบด้วยญาณของตนว่า ภัยจะเกิดมีเนื่องในงานสมโภชพระมหาเจดีย์ครั้งนี้ต่างก็หาผู้ช่วยป้องกัน พระเถรานุเถระประมาณกำลังแห่งตน ก็รู้ว่าไม่สามารถและรู้ว่ามีพุทธพยากรณ์ไว้แล้วว่า ท่านพระมหาเถระอุปคุตมีหน้าที่ในการนี้โดยเฉพาะ จึงไม่มีพระเถระองค์ใดรับภาระป้องกัน พระเถระทั้งหลายจึงให้พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปผู้ทรงอภิญญาสมาสมบัติไปอาราธนาพระอุปคุต (ชื่อเต็มว่า พระกีสนาคอุปคุตมหาเถระ) มาสู่ที่ประชุม พระภิกษุ ๒ รูปนั้นจึงเข้าญาณสมาบัติระเบิดน้ำลงไปหาท่านพระอุปคุตแล้วแจ้งให้ทราบว่า “บัดนี้พระเถระทั้งหลายมีเถรบัญชาให้ข้าพเจ้าทั้งสองมาอาราธนาพระคุณท่านไปร่วมการประชุมเพื่อปรึกษางานพระพุทธศาสนา”
พระอุปคุตเถระทราบสังฆบัญชาเช่นนั้น คิดว่าจะต้องไปร่วมการประชุมในครั้งนี้ จะขัดสังฆบัญชาไม่ได้ ต้องเคารพอำนาจแห่งหมู่สงฆ์ และเป็นงานพระพุทธศาสนาด้วย ครั้งดำริดังนั้นแล้ว พระอุปคุตเถระจึงบอกภิกษุ ๒ รูปนั้น “ท่านจงกลับไปก่อนเถิด เราจะตามไปทีหลัง” พระภิกษุหนุ่ม ๒ รูปนั้นกราบลาเดินทางมาก่อน พระอุปคุตจึงเข้าญาณสมาบัติมาถึงสำนักพระเถรานุเถระทั้งหลายก่อนพระภิกษุหนุ่มทั้ง ๒ รูปก่อนเสียอีก
พระสังฆเถระประชุมสงฆ์ จึงกล่าวแก่พระอุปคุตว่า “คณะสงฆ์จะลงทัณฑ์กรรมแก่ท่าน เพราะความผิดที่ท่านไม่มาร่วมสังฆกรรม ทำอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ร่วมกับคณะสงฆ์” พระอุปคุตจึงกล่าวว่า “ ข้าพเจ้ายินดีรับทัณฑกรรมที่คณะสงฆ์จะลงโทษ ขอพระคุณเจ้าแจ้งว่า จะให้ข้าพเจ้าทำประการใด”
พระสังฆเถระประชุมสงฆ์แล้วว่า “บัดนี้พระยาศรีธรรมมาโศกราชทรงปรารถนาจะทำการสมโภชพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ ๘๔,๐๐๐ องค์ที่ทรงสร้างไว้ในชมพูทวีปทั้งหมด ต้องใช้เวลาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ให้สมพระราชศรัทธาแต่เกรงว่า การสมโภชอันมีเกียรตินั้นจะไม่พ้นภัย เกรงพญามารจะขัดขวางทำลายไม่ให้พระราชพิธีสมโภชนั้นดำเนินไปด้วยดี พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชตรัสให้คณะสงฆ์ช่วยป้องกัน พวกเราไม่มีใครสามารถจะช่วยได้ เห็นแต่ท่านเพียงผู้เดียว

ฉะนั้น คณะสงฆ์จะลงทัณฑกรรมแก่ท่าน โดยให้ท่านรับเป็นธุระป้องกันภัยอันตรายในงานสมโภชครั้งนี้ เพราะท่านห่างเหินการปกครองของคณะสงฆ์และไม่มาร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมตามพระพุทธบัญญัติ”


พระอุปคุตจึงยอกรอัญชลีสงฆ์ ก้มลงกราบแล้วกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายินดียอมรับทัณฑกรรม” เมื่อได้ผู้ป้องกันภัยอันตรายในการบำเพ็ญกุศลแล้ว คณะสงฆ์โดยมี พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน จึงถวายพระพรให้พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราช พระองค์ทรงโสมนัสยิ่งนัก
แต่ครั้นทอดพระเนตรเห็นองค์พระอุปคุตมหาเถระเจ้าแล้วก็หนักพระทัย เพราะท่านมีร่างกายผ่ายผอม ครั้นรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นพระอุปคุตเดินไปบิณฑบาต ทรงมีพระราชบัญชาสั่งให้พนักงานเลี้ยงช้าง ปล่อยช้างตกมันไล่พระอุปคุตเพื่อทดสอบ พระอุปคุตเห็นช้างวิ่งไล่มาข้างหลัง จึงเข้าญาณสมาบัติอธิษฐานจิตให้ช้างตัวนั้นแข็งประดุจหิน ไม่อาจขยับเขยื้อนได้

พระเจ้าศรีธรรมมาโศกราชทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงขอขมาและทรงพอพระทัยยิ่งนัก เกิดความเคารพนับถือพระมหาเถระอุปคุตเป็นอันมาก ครั้งได้มงคลฤกษ์จึงเริ่มบุญพิธีสมโภชพระมหาเจดีย์ตามพระราชประสงค์
ครั้นพญาวัสวดีมาราธิราช ทราบราชพิธีจึงเกิดความไม่พอใจ คิดจะทำลายพิธีนั้น จึงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้บังเกิดมหาวาตพายุอย่างร้ายแรง มีกำลังพัดมาดั่งประหนึ่งจะถล่มแผ่นดินให้ทลาย พระอุปคุตเถระเห็นอากาศวิปริตอย่างนั้นก็ทราบชัดด้วยญาณประเสริฐของท่านว่า บัดนี้พญามารมาทำลายแล้ว ท่านเข้าญาณสมาบัติโดยพลัน อธิษฐานให้เป็นลมเหมือนกัน และลมของพญามารก็พ่ายแพ้ พญามารก็แผลงฤทธิ์ขึ้นใหม่ เป็นลมกรด เป็นเพลิง เป็นทรายเพลิง เร่าร้อนด้วยไฟ และประการอื่นอีกหลายอย่าง พระอุปคุตก็เข้าญาณแก้ได้ทุกอย่าง จนพญามารเกิดโทสะแรงกล้าพยายามจะทำลายล้างพระอุปคุต ปรากฏเป็นพญามารเข้าไปใกล้พระอุปคุตมหาเถระเห็นว่าพญามารนี้เกเรมาก คอยแต่จะทำลายคนทำบุญทำกุศล คนประพฤติดีไม่ชอบ ไม่อยากเห็นความดีของผู้ใด มีปกติริษยาความดีของผู้อื่น ไม่มีใจอนุโมทนาความดีของผู้ใด พระอุปคุตจึงเนรมิตสุนัขตัวหนึ่ง มีตัวเน่าขึ้นพองมีน้ำหนองและหนอนหลั่งไหลออกมา แล้วเอาแขวนไว้ที่คอของพญามารแล้วอธิษฐานไม่ให้ผู้ใดแก้ออกได้ ฝ่ายพญามารอับอายขายหน้าเหม็นกลิ่นสุนัขเน่ายิ่งนัก จึงซมซานไปหาท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ขอร้องให้ช่วยแก้สุนัขออกจากคอ ท้าวจตุมการาชบอกว่าแก้ไม่ได้พญามารจึงไปหาเทวดาองค์อื่น ๆ จนถึงท้าวมหาพรหม ก็ไม่สามารถจะช่วยแก้ได้ ท้าวมหาพรหมจึงพูดว่า “ เราก็ช่วยท่านไม่ได้ ต้องลงไปขอขมาท่านพระอุปคุตมหาเถระ แล้วอ้อนวอนให้ท่านช่วยแก้” ดังนี้
เมื่อพญามารไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเทพเจ้าองค์ใดแล้ว จึงจำใจบากหน้ามาง้องอนอ้อนวอนพระมหาอุปคุตว่า “ช่วยแก้สุนัขออกด้วย ข้าพเจ้าขอโทษสักครั้งที่ล่วงเกินท่าน” พระอุปคุตมหาเถระทราบด้วยญาณว่า พญามารยังไม่ละพยศจริงจำต้องทรมานต่อไปให้ยิ่งกว่านี้ หาไม่พระราชพิธีสมโภชพระเจดีย์จะไม่ครบ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ดังทรงตั้งพระปณิธานไว้พระอุปคุตมหาเถระแก้ให้และสั่งพญามารให้ตามไปที่ภูเขาแล้วเอาผ้ากายพันธ์ (ผ้ารัดอก) ของท่านผูกพญามารไว้ที่ภูเขาลูกนั้น ปล่อยทิ้งไว้ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พอดีกับระยะเวลาในการสมโภช
ผ่ายพญามารนั้น แม้จะพยามดิ้นรนให้พ้นจากการถูกมัด ดิ้นเท่าไหร่ก็ไม่หลุด สุดท้ายจึงกล่าวรำพันออกมาว่า “ช่างกระไรพระเถระรูปนี้ ตัวท่านเป็นเพียงสาวกของพระพุทธองค์ ยังอวดดีมาทำร้ายเรา ผูกมัดเราให้ได้รับความลำบากแทบประดาตาย เป็นภิกษุมีใจโหดร้ายที่สุดที่มาทรมานเรา พระพุทธองค์ยังดีกว่าพระรูปนี้มากกว่าโกฎิเท่า พระองค์ยังมีพระเมตตาปราณีแก่เรา เมื่อเราได้ทำร้ายพระพุทธเจ้าตรั้งแรกตรัสรู้ กำลังประทับอยู่ที่โพธิบัลลังก์ เราพร้อมด้วยเสนามารจำนวนร้อยโกฎยกทัพมาเพื่อจะประทุษร้ายพระพุทธเจ้า แต่เราสู้บารมีไม่ได้ต้องพ่ายแพ้ภัยตัวเองเรื่องนั้นสาหัสถึงเพียงนี้ ไม่มีเลยที่พระพุทธเจ้าจะทรงกริ้วและประทุษร้ายตอบยังทรงเมตตาปราณีแก่เรา”
พญามารเมื่อตรึกครองมาถึงตรงนี้ ก็เลื่อมใสในพระบารมีธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเปล่งว่าจา อธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตด้วยสัจจบารมีที่ได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระอุปคุตมหาเถระทราบวาระจิตของพญามารดังนั้น จึงปรากฏกายเข้าไปใกล้พญามารแล้วพูดว่า “ เราแกล้งลงทัณฑ์แก่ท่าน เพื่อให้ระลึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า และจะได้ยกเรื่องเห็นคุณของพระพุทธเจ้าเป็นบารมีธรรม อธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพราะพระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้ว่า เราจะทรมารท่านให้ละ พยศอันร้ายกาจ และจะอธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า มีพระพุทธทำนายดังนี้ท่านอย่าโกรธเราเลย เราทำด้วยปราณี” พญามารถึงซึ่งความโสมนัสเป็นที่ยิ่งพระอุปคุตจึงเปลื้องผ้ากายพันธ์ออกจากตัวของพญามาร..”
เรื่องราวของพระอุปคุต ปรากฏตามนัยปฐมสมโพธิกถา ปริจเฉทที่ ๒๘ “มารพันธปริวรรต” เพียงเท่านี้ แต่ใน “อโศกาวทาน” ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่อายุราวสองพันกว่าปี ได้ปรากฏเรื่องราวของท่านพระอุปคุตเถระที่อาจมีความพิสดารและข้อแตกต่างจาก พระปฐมสมโพธิกาบ้าง (ย่อความนี้จากงานแปลของ ส.ศิวรักษ์)

“ข้อความในพระสูตรมีว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ดังนี้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ กรุงสาวัตถี...”

ดังนั้น ขอให้เรารำลึกถึงพระพุทธพจน์ที่ช่วยให้ดวงจิตของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสว่างขึ้น ณ ท่ามกลายแห่งบรรดาพระเถราจารย์เจ้าของเราทั้งหลาย พระพุทธดำรัสที่หลั่งออกมาจากพระโอฐษ์นั้น ดุจดังมหาเมฆกลายสภาพโปรยปรายเป็นสายฝน เพื่อชำระล้างความโสโศรก อันก่อตัวขึ้นจากโคลนตม ซึ่งได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ให้หมดสิ้นไป คำสอนของพวกเดียรถีย์ก็ปลาสนาการไปด้วยแสงแห่งปัญญา อันเกิดจากงานนิพนธ์ของพระอาจารย์เจ้าเหล่านั้น ซึ่งรจนาไว้ทั้งในทางไวยากรณ์ คัมภีร์ และตำราอื่น ๆ โดยที่ท่านเหล่านี้นได้ดื่นน้ำอันบริสุทธิ์คือพระสัทธรรมอันวิเศษ บรรลุซึ่งโลกุตตรธรรม


เรื่องของพระอุปคุตเถระ ผู้ซึ่งเป็นเอตทัคคะในบรรดาพระธรรมกถึก คำสอนของพระคุณท่านนั้น อยู่ในสถานะอันเหนือกว่าพระอินทร์ พระพรหม และเทพเจ้าอื่น ๆ พระคุณเจ้าเป็นดังวีรบุรุษ ทรงไว้ซึ่งอิทธิวิธี ฉะนั้น ขอให้เราตั้งใจสดับถ้อยคำ ที่ถ่ายทอดโดยพระอาจารย์เจ้าเหล่านั้นด้วยเถิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น