วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การทอดกฐินและอานิสงฆ์ของการทอดกฐิน






การทอดกฐิน
ประเพณีทอดกฐินนี้ เป็นประเพณีที่มีมาแล้วแต่ครั้งสมัยพุทธกาล และเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความนับถือกันว่าเป็นยอดของมหากุศลผลบุญ จะเป็นปัจจัยนำให้ผู้ได้ทอดกฐินนั้น ได้ประสบซึ่งความสุขความเจริญในอธิโลกและปรโลกตลอดกาลนาน คำว่า“กฐิน”นี้ เมื่อจะแปลตามความหมายของศัพท์แล้ว ก็ได้ความหมายว่ากรอบไม้สำหรับขึงเย็บผ้าจีวรของภิกษุ ซึ่งกรอบไม้ชนิดนี้ โดยมากนิยมเรียกกันว่า“สะดึง”ฉะนั้นที่มีความนิยมเรียกกันว่า “ผ้ากฐิน” นี้ ก็เพราะเมื่อจะเย็บนั้น ต้องขึงผ้าให้ตึงด้วยไม้สะดึงก่อนจึงเย็บ เมื่อสำเร็จเป็นผ้า “กฐิน” แล้วจึงได้นำไปทอดแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้วตลอด 3 เดือน ซึ่งมีความนิยมเรียกกันว่า “ทอดกฐิน”
ประเพณีการทอดกฐินนี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า“จุลกฐิน”และได้นิยมกันมาแต่โบราณกาลถือกันว่าถ้าผู้ใดมีความสามารถทอด“จุลกฐิน”นี้ได้จะเป็นผู้ได้รับอานิสงส์มาก วิธีทอด“จุลกฐิน” นี้ ต้องทำอย่างนี้ คือ ต้องไปเก็บเอาฝ้ายมาปั่นเป็นด้ายแล้วทอให้เป็นผืนผ้ากฐินให้เสร็จในวันเดียว แต่การทอด “จุลกฐิน” อย่างนี้ต้องช่วยหลายคนจึงจะเสร็จในวันเดียวได้ จะต้องให้ทันกับเวลาอีกด้วย คือต้องช่วยกันหลาย ๆ แรงแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชุลมุนวุ่นวาย เมื่อทำเสร็จพอที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้แล้วก็รีบนำไปทอด คงจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง จึงได้เรียกว่า“จุลกฐิน” คือเป็นผ้าที่สำเร็จขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือจุกๆ จิกๆ เช่น เมื่อเก็บฝ้ายแล้วก็เอาฝ้ายนั้นมาปั่นมากรอ มาสาง เมื่อเสร็จเป็นเส้นด้ายแล้ว ก็เอามาทอเป็นผ้า แล้วเอามาตัด มาเย็บ มาย้อมให้เสร็จเรียบร้อยวันเดียวกันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะเรียกว่าเป็น“จุลกฐิน” ได้



อานิสงส์ของการทอดกฐิน
ครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุรุษเข็ญใจผู้หนึ่งไปอาศัยเศรษฐีสิริธรรมเศรษฐี ในฐานะที่เป็นคนใช้ เศรษฐีให้อาหารวันละหม้อแก่ชายเข็ญใจ อันมีชื่อว่าติณบาล ติณบาลรำลึกถึงชีวิตของตน ที่เกิดมาทุกข์ยากเข็ญใจและรำพึงว่า “ตัวเราเกิดมาเป็นคนยากจนข้นแค้น แม้ที่จะซุกหัวนอนก็ไม่มี ต้องอาศัยเขาอยู่ ชาติก่อนเราคงทำบาปไว้มากชาตินี้ แม้จะจนก็ควรจะได้ทำบุญสร้างกุศลบ้าง” คิดดังนั้นแล้ว ก็ตกลงใจว่า อันอาหารวันละหม้อที่เศรษฐีให้นั้น จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งถวายสงฆ์ผู้ออกบิณฑบาตร อีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับตนบริโภค เมื่อตกลงใจดังนั้นแล้ว ก็ได้ทำบุญดังที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เมื่อเวลานานวัน เศรษฐีได้ทราบข่าวก็คิดสงสาร และเพิ่มอาหารให้อีกสองส่วน รวมเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งถวายพระภิกษุสงฆ์อีกส่วนหนึ่งให้ทานแก่คนยากจน อีกส่วนหนึ่งสำหรับตนบริโภค เขาทำเช่นนี้อยู่เป็นเวลานาน เมื่อการสร้างกุศลผลบุญจากอาหารที่เศรษฐีให้ ต่อมาวันหนึ่งเป็นวันออกพรรษา สิริธรรมเศรษฐีจะทอดกฐิน จึงชักชวนชาวบ้านให้ร่วมด้วย ติณบาลได้ยิน ดังนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส คิดจะร่วมทำบุญทอดกฐินกับเขาบ้าง จึงเข้าไปหาเศรษฐีแล้วถามว่า
ติณบาล “การทำบุญกฐินมีอานิสงส์อย่างไร?”
เศรษฐีจึงตอบว่า “การทำบุญกฐินมีอานิสงส์มากนัก แม้พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า เป็นทานอันประเสริฐ เป็นการช่วยจรรโลงพระศาสนาให้ถาวร”
ติณบาลได้ยินดังนั้นก็ดีใจนัก เขาเกิดความเลื่อมใสศรัทธา แต่เขาก็ขัดสนด้วยเงินทองที่จะนำไปบริจาค จึงมองดูตัวเองก็เห็นว่า มีแต่ผ้านุ่งของตนเองเท่านั้นที่พอจะขายได้ เมื่อตกลงใจแล้ว จึงเปลื้องผ้าออก เอาใบไม้ที่เย็บเป็นผ้ามานุ่งห่มแทน แล้วเอาผ้าไปขายในตลาด ในที่สุดก็ขายได้ในราคา 5 มาสัก ประมาณ 1 บาท แล้วนำไปมอบให้เศรษฐีเพื่อทำบุญทอดกฐิน กาลครั้งนั้นได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชนตลอดทั้งเทวดาบนชั้นฟ้า
พระเจ้าพาราณสีทรงทราบพฤติการณ์ของติณบาล จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า แต่ติณบาลไม่กล้าเข้าเฝ้า เพราะตนนุ่งห่มด้วยใบไม้ พระเจ้าพาราณสีจึงให้ทหารนำผ้ามาพระราชทานให้ นอกจากนั้นยังได้พระราชทานบ้านช่อง ที่ดิน และทรัพย์สมบัติทั้งปวงอย่างมากมาย และโปรดให้ดำรงตำแหน่งเป็นเศรษฐีในบ้านเมืองพาราณสี ติณบาลเศรษฐีก็ทำบุญสร้างกุศล ในทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทานนั้น โดยการแบ่งสันปันส่วนตามที่เขาได้เคยทำมาแล้ว ครั้นเมื่อสิ้นอายุขัย ติณบาลเศรษฐี ก็ได้เกิดเป็นเทพบุตรในชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพย์สมบัติ มีบริวารเป็นนางฟ้าด้วยผลบุญในการทอดกฐินครั้งนี้

กฐินทาน มีผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่จะนับประมาณมิได้ ทั้งจะให้บุคคลผู้บริจาคสิ้นจากทุกข์ภัย พ้นจากความพิบัติและยากจนขัดสน จนได้ล่วงถึงพระอมตมหานิพพานในอวสานชาติที่สุด จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะพร้อมใจกันประกอบตามประเพณีการทอดกฐินนี้ ซึ่งนอกจากจะได้บำเพ็ญกุศลอันมีผลานิสงส์มากยิ่งแล้ว ยังจะได้ชื่อว่าได้รักษาประเพณีที่บรรพบุรุษของเราได้ กระทำกันมาจนถึงพวกเราเหล่าลูกหลานทุกวันนี้ และยังได้ชื่อว่าช่วยกันดำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทยของเราอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น