วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข้าวมธุปายาส ข้าวกวนทิพย์


ข้าวมธุปายาส



พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้จัก “มธุปายาส” ซึ่งเป็นอาหารโบราณตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจากเรื่องราวในพุทธประวัติ โดยมีนางสุชาดาเป็นผู้ปรุงถวายพระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หนังสือ “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสมีกล่าวอรรถาธิบาย ขั้นตอนในการหุงข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาไว้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ถอดความมาได้ดังนี้
“ก่อนที่จะถึงวันวิสาขปุรณมี เพ็ญเดือนหกนางสุชาดาก็ใช้ให้บุรุษทาสกรรมการทั้งหลายเอาฝูงแม่โคจำนวน 1000 ตัวไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ เพื่อให้แม่โคทั้งหมดได้บริโภคเครือชะเอม อันจะทำให้น้ำนมมีรสหวานหอม แล้วแบ่งโคนมออกเป็น 2 พวก พวกละ 500 ตัว เพื่อรีดเอาน้ำนมจากแม่โค 500 ตัวในกลุ่มแรกมาให้แม่โคอีก 500 ตัวในกลุ่มหลังบริโภค ครั้นแล้วก็แบ่งแม่โคในกลุ่มหลังจำนวน 500 ตัว ออกเป็น 2 พวก พวกละ 250 ตัว แล้วรีดเอาน้ำนมแม่โค 250 ตัวจากกลุ่มแรกมาให้แม่โคอีก 250 ตัว ในกลุ่มหลังบริโภค กระทำการแบ่งกึ่งกันเช่นนี้ลงมาทุกชั้นๆ จนเหลือ 16 ตัว แล้วแบ่งออกเป็น 2 พวก พวกละ 8 ตัว นำน้ำนมของแม่โค 8 ตัวแรกมาให้อีก 8 ตัวสุดท้ายบริโภค ทำเช่นนี้เพื่อจะให้น้ำนมของแม่โค 8ตัวที่เหลือมีรสหวานอันเลิศ
จนกระทั่งเหลือแม่โคที่จัดไว้ใช้ 8ตัว ในคืนก่อนวันเพ็ญเดือน 6 หนึ่งวัน นางจึงนำภาชนะมารองเพื่อเตรียมจะรีดน้ำนมใส่ลง ขณะนั้นน้ำนมก็ไหลออกมาเองจนเต็มภาชนะเป็นมหัศจรรย์ปรากฏ นางสุชาดาเห็นดังนั้นก็รู้สึกปิติยินดีเข้ารับภาชนะซึ่งรองน้ำนมนั้นด้วยมือตน นำมาเทลงในภาชนะใหม่ แล้วใส่ลงในกระทะนำขึ้นตั้งบนเตาใส่ฟืนเตรียมก่อเพลิงด้วยตนเอง เวลานั้นสมเด็จ อัมรินทราธิราช ก็เสด็จลงจุดไฟให้โชติช่วงขึ้น ท้าวมหาพรหมทรงนำทิพย์เศวตฉัตรมากางกั้นเบื้องบนภาชนะที่หุงมธุปายาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ได้มาประทับยืนรักษาเตาไฟทั้ง 4 ทิศ เหล่าเทพยดาทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุต่างพากันนำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์มาโปรยใส่ลงในกระทะด้วยเมื่อน้ำนมเดือดก็ปรากฏเป็นฟองใหญ่ไหลเวียนขวาทั้งสิ้น จะกระเซ็นตกลงพื้นแผ่นดินแม้นสักหยดหนึ่งก็ไม่มี
ครั้นสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ดี นางจึงนำมาบรรจุลงในถาดทองคำข้าวมธุปายาสอันหุงเสร็จเรียบร้อยก็พอดี ไม่มีพร่อง ไม่มีเกิน แล้วปิดฝาด้วยถาดทองอีกใบหนึ่งห่อหุ้มด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ เมื่อนั้นนางก็จัดแต่งอาภรณ์ให้เรียบร้อย ยกถาดทองคำซึ่งบรรจุมธุปายาสอันโอชะทูนขึ้นไว้บนศีรษะของตนแล้วเดินนำไปสู่ที่ประทับแห่งพระบรมโพธิสัตว์” ข้าวมธุปายาสในครั้งพุทธกาลเป็นอาหารที่ปรุงให้มีรสหวานนุ่มมีส่วนผสมของข้าวอ่อนที่ยังไม่สุกจัดคั้นออกจากรวงเป็นน้ำ แล้วหุงกับน้ำนมสดเจือด้วยน้ำผึ้งมีความข้นพอที่จะปั้นให้เป็น
สิ่งสำคัญในการกวนข้าวทิพย์ ขณะกวนต้องกวนไปทางเดียวกันคือวนขวาไปตลอด จนกระทั่งเสร็จ เพื่อให้ขนมมีความเหนียวและกะทิไม่แยกตัวจากน้ำตาล สัดส่วนที่ใช้ เครื่องปรุงแต่ละอย่างไม่กำหนดตายตัวขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ปรุงแต่ส่วนใหญ่จะหนักน้ำตาลหม้อกะทิและข้าว ในพระราชพิธีกวนข้าวทิพย์ ฟืนที่ใช้ติดไฟเคี่ยวกะทิและกวน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์และไม้พุทราสองอย่างเท่านั้น เชื้อไฟก็ใช้ส่องด้วยแว่นขยายจุดขึ้นเรียกว่า “ไฟฟ้า” เป็นความหมายว่าไฟเกิดจากฟ้า ถือเอาตามคติที่พระอินทร์เป็นผู้ลงมาจุดไฟในเตาให้นางสุชาดานั้นเองผู้กวนข้าวทิพย์จะเป็นหน้าที่ของเด็กหญิงพรหมจรรย์ อายุไม่เกิน 12 ปีทั้งสิ้น

จากประวัติความเป็นมาและกรรมวิธีในการหุงข้าวมธุปายาส จึงสรุปมูลเหตุที่ชาวพุทธทั้งหลายกล่าวยกย่อง “มธุปายาส” ว่าเป็น “ข้าวทิพย์” ได้ 3 ประการคือ
1. เป็นของที่มีรสอันโอชะล้ำเลิศและกระทำได้ยากผู้ที่จะสามารถปรุงขึ้นได้ต้องอาศัยบารมี คือมีความพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกายคือบริวารผู้คน และกำลังสติปัญญาล่วงรู้ขั้นตอนในการปรุง เห็นได้ว่ามิใช่วิสัยของคนธรรมดาจะทำได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์
2. เป็นของที่ปรุงขึ้นถวายแด่ผู้มีบุญญาธิการ ผู้ควรสักการบูชา ปรุงขึ้นเป็นการเฉพาะ เช่น เพื่อเป็นเครื่องสังเวยต่อเทพยดา เป็นต้น รวมความก็คือทั้งผู้ปรุงและผู้รับต่างต้องมีบุญบารมีมากจึงจะกระทำได้
3. เป็นอาหารที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยแล้วสามารถตรัสรู้บรรลุอนุตรสัมโพธิญาณได้

ฉะนั้น “ข้าวทิพย์” ก็คือสมญานามอันเกิดจากความรู้สึกที่ลึกซึ้งในจิตใจว่า เป็นของสูงของวิเศษล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้นั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น