วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การทำบุญการปล่อยสัตว์ ไถ่ชีวิตสัตว์ และอานิสงส์การไถ่ชีวิตสัตว์


อานิสงส์การไถ่ชีวิตสัตว์ ช่วยต่ออายุ ขจัดอุปสรรคในชีวิต ชดใช้หนี้กรรมให้เจ้ากรรมนายเวรที่เคยกินเข้าไป ให้ทำมาค้าขึ้น หน้าที่การงานคล่องตัวไม่ติดขัด ชีวิตที่ผิดหวังจะค่อยๆฟื้นคืนสภาพที่สดใส เป็นอิสระ
นอกจากนี้การไถ่ชีวิตโคกระบือจะได้อานิสงส์ใหญ่ เพราะโคกระบือถือเป็นชาติใกล้มนุษย์ (หมายถึงว่าชาติต่อไปของโคกระบือมีสิทธิ์มากที่จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์) การที่โคกระบือถูกจับเข้าโรงฆ่าสัตว์จะทำให้จิตเศร้าหมองในขณะตาย จึงทำให้ชาติต่อไปซึ่งเดิมมีสิทธิ์ได้มาเกิดเป็นมนุษย์จะต้องเสียโอกาสเพราะจิตเศร้าหมองที่หวังได้คืออบายสถานเดียว
การไถ่ชีวิตโคกระบือจึงหมายถึงช่วยให้สัตว์ในอบายภูมิสามารถมีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์โดยช่วยให้จิตมันไม่เศร้าหมองทรมานก่อนจะตายค่ะ

อานิสงส์ของการให้ยานพาหนะ

เทวดาที่สงสัยว่าทำบุญด้วยอะไรจะให้ความสุข จึงถามต่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำ :
หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของการให้ยานพาหนะว่า
ที่เทวดาถามพระพุทธเจ้าว่า “ให้อะไรที่จะให้ผิวพรรณมีความสวย ให้อะไรต่อไปชาติหน้าจึงจะสวย” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ให้ผ้าผ่อนท่อนสไบ จะได้ผิวพรรณสวยงาม” เทวดาถามว่า “ให้อะไรชื่อว่าให้ความสุข” พระพุทธเจ้าบอกว่า ““สุคโท ยานโท โหติ” ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข"

การทำบุญด้วยร่ม หรือฉัตร และอานิสงส์ของการถวายร่ม หรือฉัตร







การทำบุญถวายร่มหรือฉัตร และอานิสงส์ของการถวายร่ม หรือฉัตร
คำว่า "ฉัตร" สามัญชนหมายถึง "ร่ม" ฉัตร ถือเป็นของสูงการที่ฉัตรมีหลายชั้น คือสวรรค์แต่ละชั้นนั้นเอง และเป็นจุดศูนย์รวมของจักรวาล ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจ หรือจุดศูนย์รวมนั้นเอง ฉัตร เป็นเครื่องสูงสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เพื่อเป็นเกียรติยศ ฉัตรมีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ การถวายฉัตร 9 ชั้น คนไทยถือว่าเป็นเลขดี มีความก้าวหน้าเป็นต้น โดยเฉพาะทางพุทธศาสนาหมายถึง มรรค 4 ผล 4 และนิพพาน 1
ส่วนอานิสงส์การถวาย "ร่ม" หรือ "ฉัตร" นั้น ในทางพระพุทธศาสนาถือว่ามีอานิสงส์สูง ได้รับการเคารพยกย่อง เกิดในชาติตระกูลสูง มีสง่าราศี สมัยที่พระพุทธเจ้ายังเป็นหน่อเนื้อพระบรมโพธิสัตว์ พระองค์ยังทรงเคยถวายร่มให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งด้วยการถวายร่มหรือฉัตร เชื่อกันว่าจะได้เกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน





อานิสงส์ของการถวายร่ม หรือฉัตร ...ข้าพเจ้าได้ถวายร่มในพระสุคตและพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ คือ ข้าพเจ้า


๑. ไม่รู้สึกหนาว
๒. ไม่รู้สึกร้อน
๓. ละอองและธุลี ไม่แปดเปื้อน
๔. เป็นผู้ไม่มีอันตราย
๕. ไม่มีเสนียดจัญไร
๖. ชนทั้งหลายยำเกรงทุกเมื่อ
๗. เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียด
๘. เป็นผู้มีใจใสสะอาด


...เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ฉัตร ๑๐๐,๐๐๐ คันซึ่งประกอบด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง กั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า ยกเว้นชาตินี้เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น เพราะฉะนั้น ในชาตินี้ การกั้นฉัตร จึงไม่มีแก่ข้าพเจ้าข้าพเจ้ากระทำกรรมทุกอย่าง ก็เพื่อบรรลุฉัตรคือวิมุตติ

อานิสงส์การสร้างกุฏิวิหาร





อานิสงส์การสร้างกุฏิวิหาร
ในกาลครั้งหนึ่งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ลัฎฐิวันสวนตาลหนุ่ม พระองค์เที่ยวโปรดเวไนยสัตว์ให้ได้มรรค 4 ผล 4 ในครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ครองราชสมบัติที่กรุงราชคฤห์ก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แล้วก่อสร้างกุฎีวิหารในพระราชอุทยานเวฬุวันสวนป่าไม้ไผ่ให้เป็นวัดแรกในพุทธศาสนา ถวายแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ 500 รูป พร้อมกับถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมกับภิกษุสงฆ์เส็รจภัตตากิจเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทูลถามว่า
"ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญสาธุชนทั้งหลายมีใจศรัทธา ปสันนาการ เลื่อมใสการก่อสร้างกุฎีวิหารถวายเป็นสังฆทานนั้น จะได้ผลานิสงส์เป็นประการใด ขอให้พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ข้าพุทธเจ้าพร้อมบริษัททั้งหลายให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า" องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า
"ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร บุคคลผู้ใดมีจิตศรัทธาเลื่อมใสพระรัตนตรัย แล้วก่อสร้างกุฎีวิหารศาลาคูหาน้อยใหญ่ถวายเป็นทาน จะประกอบด้วยผลอานิสงส์มากเป็นเอนกประการนับได้ถึง 40 กัลป์" พระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาเทศนาต่อไปว่า
ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว พระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติบังเกิดในโลกยังศูนย์เหล่าอยู่สิ้นกาลช้านาน ในระหว่างนั้นพระปัจเจกโพธิเจ้าทั้งหลายก็ได้บังเกิดตรัสรู้ในโลกนี้ เมื่อพระปัจเจกโพธิเจ้าก็อาศัยในป่าหิมพานต์ อยู่มาวันหนึ่งมีความปรารถนาเพื่อจะมาใกล้หมู่บ้านอันเป็นว่านแคว้นกาสิกราชมาอาศัยอยู่ในรายป่าแห่งหนึ่งแถบใกล้บ้านนั้น มีนายช้างคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านนั้นก็ไปป่ากับลูกชายของตนเพื่อจะตัดไม้มาขายกินเลี้ยงชีพตามเคย ก็แลเห็นพระปัจเจกโพธิเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ พ่อลูกสองคนก็เข้าไปใกล้น้อมกายถวายนมัสการแล้วทูลถามว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าจะไปไหน จึงมาอยู่ในสถานที่นี้"
พระปัจเจกโพธิ จึงตอบว่า "ดูกรอาวุโส บัดนี้จวนจะเข้าพรรษา"
นายช่างก็อาราธนาให้อยู่จำพรรษาในที่นี้พระปัจเจกโพธิทรงรับด้วยการดุษณียภาพสองคนพ่อลูกก็ดีใจ จึงขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าเข้าไปสู่เรือน ถวายบิณฑบาตทานแก่พระปัจเจกโพธิสองคนพ่อลูกก็เที่ยวตัดไม้แก่นมาทำสร้างกุฎิวิหารที่ริมสระโบกขรณีใหญ่และทำที่จงกรมเสร็จแล้ว จึงได้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าจงอยู่ให้เป็นสุขเถิดพระเจ้าข้า ครั้นพระปัจเจกโพธิได้รับนิมนต์แล้ว สองคนพ่อลูกตั้งปฎิธานความปรารถนาขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ยากไร้เข็ญใจ และขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพผู้ประเสริฐองค์หนึ่งเถิด พระปัจเจกโพธิก็รับอนุโมทนาซึ่งบุญ
นายช่างสองคนพ่อลูกอยู่จนสิ้นอายุขัยแล้ว ก็ทำกาลกริยาตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีวิมานทองเป็นที่รองรับและเทพอัปสรแวดล้อมเป็นบริวารเสวยทิพย์สมบัติอยู่ในสวรรค์สิ้นกาลช้านาน ครั้นเมื่อจุติจากสวรรค์นั้นแล้วก็ไปบังเกิดเป็นราชบุตรของพระเจ้าสุโรธิบรมกษัตริย์ในเมืองมิถิลามหานคร ทรงพระนามว่ามหาปนาทกุมาร ครั้นเจริญวัยขึ้นจึงได้เสวยราชสมบัติเป็นพระยาจักรพรรดิราช ด้วยอานิสงส์ที่ได้สร้างกุฎีวิหารถวายเป็นทานแก่พระปัจเจกโพธิ ครั้นตายจากชาติเป็นพระยามหาปนาทแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดในมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ แล้วก็มาเกิดเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ 80 โกฎิ อยู่ในภัททิยนครชื่อว่า "ภัททชิ" ก็ได้ปราสาท 3 หลังอยู่ใน 3 ฤดู ครั้นเจริญวัยได้บวชในศาสนาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในศาสนาของตถาคตดังนี้แล ส่วนเทพบุตรองค์พ่อนั้น ยังเสวยทิพย์สมบัติอยุ่ในวรรค์ช้านานจนถึงศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย์ลงมาตรัส สัพพัญญู เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในมนุษย์โลก ได้จุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์พระอัครมเหสีสมเด็จพระเจ้ากรุงเกตุมวดี ทรงพระนามว่าสังขกุมาร ครั้นเจริญวัยแล้วก็ขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมกษัตริย์ มีทวีปน้อยใหญ่เป็นบริวาร พระองค์จึงได้สละราชสมบัติบ้านเมืองออกไปบรรพชา ในสำนักพระศรีอริยเมตไตรย์กับทั้งบริวาร 1 โกฎิ ก็ได้ถึงอรหันต์ ได้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ทรงพระนามอโสกเถระ
ก็ด้วยอานิสงส์ได้สร้างกุฎีให้เป็นทานนั้นแล อันเป็นบุญให้ถึงความสุข 3 ประการ คือ
มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ

การสร้างพระเจ้าทันใจ




การสร้างพระเจ้าทันใจ
ในวัดสำคัญทางภาคเหนือ นิยมสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า “พระเจ้าทันใจ” ซึ่งหมายถึง พระพุทธรูปที่ใช้เวลาสร้างได้สำเร็จภายใน 1 วัน กล่าวคือ จะเริ่มพิธีตั้งแต่หลังหกทุ่มเป็นต้นไป จนสามารถสร้างองค์พระได้สำเร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน (ก่อนเวลา 18.00 น.) ของวันถัดไป ถ้าสร้างไม่เสร็จถือเป็นพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้ในเย็นอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปนั้น มักจะมีขั้นตอน และพิธีกรรมที่ละเอียดซับซ้อน การสร้างพระพุทธรูป และสามารถทำพิธีพุทธาภิเษกได้สำเร็จภายใน 1 วัน จึงถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ จึงเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระพุทธานุภาพ และอานุภาพแห่งเทพยดาที่บันดาลให้พิธีกรรมสำเร็จโดยปราศจากอุปสรรค ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่จะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้อย่างทันอกทันใจ
การสร้างพระเจ้าทันใจของทางเหนือนั้นต้องสร้างในฤดูช่วงกฐินกาลเพียงเท่านั้น ถึงจะเป็นพระเจ้าทันใจตามแบบโบราณกาลพิธี และตามตำราโบราณ การสร้างพระเจ้าทันใจมีลักษณะที่แปลกกว่าการสร้างพระพุทธรูปอื่นๆ กล่าวคือจะมีการบรรจุหัวใจพระเจ้าคล้ายกับหัวใจของมนุษย์ ตลอดจนการบรรจุวัตถุมงคลสิ่งของมีค่าไว้ในองค์พระพุทธรูปด้วย


หลักการสร้างพระเจ้าทันใจ
การสร้างพระเจ้าทันใจนั้นใช้หลักนิยมของประเพณีโบราณทางภาคเหนือ.....ดูจะมีแนวคิดเดียวกับจุลกฐิน ที่บ่งบอกถึงศรัทธาที่จะทำบุญให้เสร็จในช่วงเวลา ๑ วัน นอกจากแรงศรัทธาแล้ว... ความสามัคคี.....การทำงานเป็นทีม.....และความเป็นมืออาชีพ มีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของศรัทธาที่ตั้งไว้แต่ต้น คือการสร้างพระเจ้าทันใจนั้นคือต้องให้เสร็จทันใจใน ๑ วัน ...แล้วทำพิธีพุทธาพิเษก....เป็นอันเสร็จพิธี การสร้างพระธาตุหรือพระพุทธรูปทันใจจึงถือว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ และเชื่อถือกันว่าเป็นเพราะพระพุทธานุภาพ แลอานุภาพแห่งเทพยดา ที่บันดาลให้สำเร็จโดยปราศจากอุปสรรคทั้งปวง





อานิสสงส์การสร้างพระเจ้าทันใจ
พระเจ้าทันใจถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากเพราะได้รวมเอาดวงจิตและความศรัทธาของมหาชนที่มาสร้างไว้อย่างแท้จริง พุทธศาสนิกชนจึงถือว่า การสร้างพระเจ้าทันใจนั้นมีอานิสงค์มากมาย ผลที่ได้นั้นจะบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้สมปรารถนาอย่างทันอกทันใจ และที่สำคัญจะปิดอบายภูมิ เมื่อดับขันธ์ในชาติปัจจุบันได้ไปสู่ภพภูมิที่ดีตามแต่กุศลที่ตั้งใจไว้เฉพาะบุคคล ดังนั้นการกราบขอพรก็ต้องตั้งจิตให้มีศรัทธาและมีสมาธิด้วย และอธิษฐานด้วยความนอบน้อม ท่านปรารถนาสิ่งใดก็มักจะสำเร็จทุกประการ ฯลฯ

วัตถุประสงค์ในการสร้างพระเจ้าทันใจ
1. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา จรรโลงพระเกียรติคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัจธรรมคำสั่งสอน และพระสงฆ์อริยสาวก ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ให้มั่นคงถาวรสถิตย์ครบ 5,000 ปี
2. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งแผ่นดินสยามทุกๆพระองค์ ตั้งแต่สมัยโยนกนาคนคร พระเจ้าพรหมมหาราช พระแม่จามเทวี ราชวงศ์ไทยทุกๆราชวงศ์ และองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตลอดทั้งบรรพชนผู้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
3. เพื่อถวายพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
4. เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พรหม 20 ชั้น 6 เทวภูมิ พระสยามเทวาธิราช เจ้าพ่อหลักเมืองทุกๆจังหวัด ตลอดจนถึงนาคบาดาลพิภพ และพรหม-เทพ สิ่งศักดิ์ทุกๆท่านที่ปกปักรักษาสังขารร่างกายของผู้สร้างและคณะญาติธรรม
5. เพื่อถวายกุศลบารมีแด่บุพการี บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทุกชาติภพ
6. เพื่อเป็นการเพิ่มบารมีในการประพฤติปฏิบัติธรรมของผู้สร้างและคณะศรัทธาไม่ว่าจะ ปรารถนามรรคผลนิพพานหรือสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ขอให้สำเร็จสมหวังดังปณิธาน
7. เพื่ออุทิศถวายต่อครูบาอาจารย์ทั้งทางโลกและทางธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
8. เพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับเจ้ากรรม-นายเวรทุกๆท่านตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันรวมทั้งจิตวิญญานทั้งหลาย และเปรต อสูรกาย สัตว์นรก ที่ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมาน เพื่อให้ผืนแผ่นดินไทยและปวงชนชาวไทย อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณธัญญาหาร ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ยับยั้งภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

( จากภาพ การสร้างพระหลวงพ่อทันใจ ที่วัดบ้านปง ตำบลอินทขิล จังหวัดเชียงใหม่ ที่วัดนี้มีหลวงปู่หน้อย ชยวังโส ที่ละสังขารแล้วเป็นร่างที่ไม่เน่าเปื่อย และบรรจุโลงแก้วไว้ให้กราบไหว้บูชา ขอพรขอบารมี เป็นอัญมณีของบุตรแห่งองค์พระศาสดาศากยะมุนีอย่างแท้จริง เป็นศรีแห่งเมืองล้านนาอีกองค์หนึ่ง ขออนุโมทนาบุญแห่งการสร้างหลวงพ่อทันใจนี้ด้วย )

ข้าวมธุปายาส ข้าวกวนทิพย์


ข้าวมธุปายาส



พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรู้จัก “มธุปายาส” ซึ่งเป็นอาหารโบราณตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจากเรื่องราวในพุทธประวัติ โดยมีนางสุชาดาเป็นผู้ปรุงถวายพระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หนังสือ “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสมีกล่าวอรรถาธิบาย ขั้นตอนในการหุงข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาไว้เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ถอดความมาได้ดังนี้
“ก่อนที่จะถึงวันวิสาขปุรณมี เพ็ญเดือนหกนางสุชาดาก็ใช้ให้บุรุษทาสกรรมการทั้งหลายเอาฝูงแม่โคจำนวน 1000 ตัวไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ เพื่อให้แม่โคทั้งหมดได้บริโภคเครือชะเอม อันจะทำให้น้ำนมมีรสหวานหอม แล้วแบ่งโคนมออกเป็น 2 พวก พวกละ 500 ตัว เพื่อรีดเอาน้ำนมจากแม่โค 500 ตัวในกลุ่มแรกมาให้แม่โคอีก 500 ตัวในกลุ่มหลังบริโภค ครั้นแล้วก็แบ่งแม่โคในกลุ่มหลังจำนวน 500 ตัว ออกเป็น 2 พวก พวกละ 250 ตัว แล้วรีดเอาน้ำนมแม่โค 250 ตัวจากกลุ่มแรกมาให้แม่โคอีก 250 ตัว ในกลุ่มหลังบริโภค กระทำการแบ่งกึ่งกันเช่นนี้ลงมาทุกชั้นๆ จนเหลือ 16 ตัว แล้วแบ่งออกเป็น 2 พวก พวกละ 8 ตัว นำน้ำนมของแม่โค 8 ตัวแรกมาให้อีก 8 ตัวสุดท้ายบริโภค ทำเช่นนี้เพื่อจะให้น้ำนมของแม่โค 8ตัวที่เหลือมีรสหวานอันเลิศ
จนกระทั่งเหลือแม่โคที่จัดไว้ใช้ 8ตัว ในคืนก่อนวันเพ็ญเดือน 6 หนึ่งวัน นางจึงนำภาชนะมารองเพื่อเตรียมจะรีดน้ำนมใส่ลง ขณะนั้นน้ำนมก็ไหลออกมาเองจนเต็มภาชนะเป็นมหัศจรรย์ปรากฏ นางสุชาดาเห็นดังนั้นก็รู้สึกปิติยินดีเข้ารับภาชนะซึ่งรองน้ำนมนั้นด้วยมือตน นำมาเทลงในภาชนะใหม่ แล้วใส่ลงในกระทะนำขึ้นตั้งบนเตาใส่ฟืนเตรียมก่อเพลิงด้วยตนเอง เวลานั้นสมเด็จ อัมรินทราธิราช ก็เสด็จลงจุดไฟให้โชติช่วงขึ้น ท้าวมหาพรหมทรงนำทิพย์เศวตฉัตรมากางกั้นเบื้องบนภาชนะที่หุงมธุปายาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ได้มาประทับยืนรักษาเตาไฟทั้ง 4 ทิศ เหล่าเทพยดาทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุต่างพากันนำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์มาโปรยใส่ลงในกระทะด้วยเมื่อน้ำนมเดือดก็ปรากฏเป็นฟองใหญ่ไหลเวียนขวาทั้งสิ้น จะกระเซ็นตกลงพื้นแผ่นดินแม้นสักหยดหนึ่งก็ไม่มี
ครั้นสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ดี นางจึงนำมาบรรจุลงในถาดทองคำข้าวมธุปายาสอันหุงเสร็จเรียบร้อยก็พอดี ไม่มีพร่อง ไม่มีเกิน แล้วปิดฝาด้วยถาดทองอีกใบหนึ่งห่อหุ้มด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ เมื่อนั้นนางก็จัดแต่งอาภรณ์ให้เรียบร้อย ยกถาดทองคำซึ่งบรรจุมธุปายาสอันโอชะทูนขึ้นไว้บนศีรษะของตนแล้วเดินนำไปสู่ที่ประทับแห่งพระบรมโพธิสัตว์” ข้าวมธุปายาสในครั้งพุทธกาลเป็นอาหารที่ปรุงให้มีรสหวานนุ่มมีส่วนผสมของข้าวอ่อนที่ยังไม่สุกจัดคั้นออกจากรวงเป็นน้ำ แล้วหุงกับน้ำนมสดเจือด้วยน้ำผึ้งมีความข้นพอที่จะปั้นให้เป็น
สิ่งสำคัญในการกวนข้าวทิพย์ ขณะกวนต้องกวนไปทางเดียวกันคือวนขวาไปตลอด จนกระทั่งเสร็จ เพื่อให้ขนมมีความเหนียวและกะทิไม่แยกตัวจากน้ำตาล สัดส่วนที่ใช้ เครื่องปรุงแต่ละอย่างไม่กำหนดตายตัวขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ปรุงแต่ส่วนใหญ่จะหนักน้ำตาลหม้อกะทิและข้าว ในพระราชพิธีกวนข้าวทิพย์ ฟืนที่ใช้ติดไฟเคี่ยวกะทิและกวน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์และไม้พุทราสองอย่างเท่านั้น เชื้อไฟก็ใช้ส่องด้วยแว่นขยายจุดขึ้นเรียกว่า “ไฟฟ้า” เป็นความหมายว่าไฟเกิดจากฟ้า ถือเอาตามคติที่พระอินทร์เป็นผู้ลงมาจุดไฟในเตาให้นางสุชาดานั้นเองผู้กวนข้าวทิพย์จะเป็นหน้าที่ของเด็กหญิงพรหมจรรย์ อายุไม่เกิน 12 ปีทั้งสิ้น

จากประวัติความเป็นมาและกรรมวิธีในการหุงข้าวมธุปายาส จึงสรุปมูลเหตุที่ชาวพุทธทั้งหลายกล่าวยกย่อง “มธุปายาส” ว่าเป็น “ข้าวทิพย์” ได้ 3 ประการคือ
1. เป็นของที่มีรสอันโอชะล้ำเลิศและกระทำได้ยากผู้ที่จะสามารถปรุงขึ้นได้ต้องอาศัยบารมี คือมีความพร้อมทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกายคือบริวารผู้คน และกำลังสติปัญญาล่วงรู้ขั้นตอนในการปรุง เห็นได้ว่ามิใช่วิสัยของคนธรรมดาจะทำได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์
2. เป็นของที่ปรุงขึ้นถวายแด่ผู้มีบุญญาธิการ ผู้ควรสักการบูชา ปรุงขึ้นเป็นการเฉพาะ เช่น เพื่อเป็นเครื่องสังเวยต่อเทพยดา เป็นต้น รวมความก็คือทั้งผู้ปรุงและผู้รับต่างต้องมีบุญบารมีมากจึงจะกระทำได้
3. เป็นอาหารที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยแล้วสามารถตรัสรู้บรรลุอนุตรสัมโพธิญาณได้

ฉะนั้น “ข้าวทิพย์” ก็คือสมญานามอันเกิดจากความรู้สึกที่ลึกซึ้งในจิตใจว่า เป็นของสูงของวิเศษล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้นั้นเอง

การทอดกฐินและอานิสงฆ์ของการทอดกฐิน






การทอดกฐิน
ประเพณีทอดกฐินนี้ เป็นประเพณีที่มีมาแล้วแต่ครั้งสมัยพุทธกาล และเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความนับถือกันว่าเป็นยอดของมหากุศลผลบุญ จะเป็นปัจจัยนำให้ผู้ได้ทอดกฐินนั้น ได้ประสบซึ่งความสุขความเจริญในอธิโลกและปรโลกตลอดกาลนาน คำว่า“กฐิน”นี้ เมื่อจะแปลตามความหมายของศัพท์แล้ว ก็ได้ความหมายว่ากรอบไม้สำหรับขึงเย็บผ้าจีวรของภิกษุ ซึ่งกรอบไม้ชนิดนี้ โดยมากนิยมเรียกกันว่า“สะดึง”ฉะนั้นที่มีความนิยมเรียกกันว่า “ผ้ากฐิน” นี้ ก็เพราะเมื่อจะเย็บนั้น ต้องขึงผ้าให้ตึงด้วยไม้สะดึงก่อนจึงเย็บ เมื่อสำเร็จเป็นผ้า “กฐิน” แล้วจึงได้นำไปทอดแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้วตลอด 3 เดือน ซึ่งมีความนิยมเรียกกันว่า “ทอดกฐิน”
ประเพณีการทอดกฐินนี้ ยังมีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า“จุลกฐิน”และได้นิยมกันมาแต่โบราณกาลถือกันว่าถ้าผู้ใดมีความสามารถทอด“จุลกฐิน”นี้ได้จะเป็นผู้ได้รับอานิสงส์มาก วิธีทอด“จุลกฐิน” นี้ ต้องทำอย่างนี้ คือ ต้องไปเก็บเอาฝ้ายมาปั่นเป็นด้ายแล้วทอให้เป็นผืนผ้ากฐินให้เสร็จในวันเดียว แต่การทอด “จุลกฐิน” อย่างนี้ต้องช่วยหลายคนจึงจะเสร็จในวันเดียวได้ จะต้องให้ทันกับเวลาอีกด้วย คือต้องช่วยกันหลาย ๆ แรงแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชุลมุนวุ่นวาย เมื่อทำเสร็จพอที่จะทำเป็นผ้ากฐินได้แล้วก็รีบนำไปทอด คงจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง จึงได้เรียกว่า“จุลกฐิน” คือเป็นผ้าที่สำเร็จขึ้นได้ด้วยการช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือจุกๆ จิกๆ เช่น เมื่อเก็บฝ้ายแล้วก็เอาฝ้ายนั้นมาปั่นมากรอ มาสาง เมื่อเสร็จเป็นเส้นด้ายแล้ว ก็เอามาทอเป็นผ้า แล้วเอามาตัด มาเย็บ มาย้อมให้เสร็จเรียบร้อยวันเดียวกันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะเรียกว่าเป็น“จุลกฐิน” ได้



อานิสงส์ของการทอดกฐิน
ครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุรุษเข็ญใจผู้หนึ่งไปอาศัยเศรษฐีสิริธรรมเศรษฐี ในฐานะที่เป็นคนใช้ เศรษฐีให้อาหารวันละหม้อแก่ชายเข็ญใจ อันมีชื่อว่าติณบาล ติณบาลรำลึกถึงชีวิตของตน ที่เกิดมาทุกข์ยากเข็ญใจและรำพึงว่า “ตัวเราเกิดมาเป็นคนยากจนข้นแค้น แม้ที่จะซุกหัวนอนก็ไม่มี ต้องอาศัยเขาอยู่ ชาติก่อนเราคงทำบาปไว้มากชาตินี้ แม้จะจนก็ควรจะได้ทำบุญสร้างกุศลบ้าง” คิดดังนั้นแล้ว ก็ตกลงใจว่า อันอาหารวันละหม้อที่เศรษฐีให้นั้น จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งถวายสงฆ์ผู้ออกบิณฑบาตร อีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับตนบริโภค เมื่อตกลงใจดังนั้นแล้ว ก็ได้ทำบุญดังที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เมื่อเวลานานวัน เศรษฐีได้ทราบข่าวก็คิดสงสาร และเพิ่มอาหารให้อีกสองส่วน รวมเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งถวายพระภิกษุสงฆ์อีกส่วนหนึ่งให้ทานแก่คนยากจน อีกส่วนหนึ่งสำหรับตนบริโภค เขาทำเช่นนี้อยู่เป็นเวลานาน เมื่อการสร้างกุศลผลบุญจากอาหารที่เศรษฐีให้ ต่อมาวันหนึ่งเป็นวันออกพรรษา สิริธรรมเศรษฐีจะทอดกฐิน จึงชักชวนชาวบ้านให้ร่วมด้วย ติณบาลได้ยิน ดังนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส คิดจะร่วมทำบุญทอดกฐินกับเขาบ้าง จึงเข้าไปหาเศรษฐีแล้วถามว่า
ติณบาล “การทำบุญกฐินมีอานิสงส์อย่างไร?”
เศรษฐีจึงตอบว่า “การทำบุญกฐินมีอานิสงส์มากนัก แม้พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า เป็นทานอันประเสริฐ เป็นการช่วยจรรโลงพระศาสนาให้ถาวร”
ติณบาลได้ยินดังนั้นก็ดีใจนัก เขาเกิดความเลื่อมใสศรัทธา แต่เขาก็ขัดสนด้วยเงินทองที่จะนำไปบริจาค จึงมองดูตัวเองก็เห็นว่า มีแต่ผ้านุ่งของตนเองเท่านั้นที่พอจะขายได้ เมื่อตกลงใจแล้ว จึงเปลื้องผ้าออก เอาใบไม้ที่เย็บเป็นผ้ามานุ่งห่มแทน แล้วเอาผ้าไปขายในตลาด ในที่สุดก็ขายได้ในราคา 5 มาสัก ประมาณ 1 บาท แล้วนำไปมอบให้เศรษฐีเพื่อทำบุญทอดกฐิน กาลครั้งนั้นได้เกิดโกลาหลทั่วไปในหมู่ชนตลอดทั้งเทวดาบนชั้นฟ้า
พระเจ้าพาราณสีทรงทราบพฤติการณ์ของติณบาล จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า แต่ติณบาลไม่กล้าเข้าเฝ้า เพราะตนนุ่งห่มด้วยใบไม้ พระเจ้าพาราณสีจึงให้ทหารนำผ้ามาพระราชทานให้ นอกจากนั้นยังได้พระราชทานบ้านช่อง ที่ดิน และทรัพย์สมบัติทั้งปวงอย่างมากมาย และโปรดให้ดำรงตำแหน่งเป็นเศรษฐีในบ้านเมืองพาราณสี ติณบาลเศรษฐีก็ทำบุญสร้างกุศล ในทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทานนั้น โดยการแบ่งสันปันส่วนตามที่เขาได้เคยทำมาแล้ว ครั้นเมื่อสิ้นอายุขัย ติณบาลเศรษฐี ก็ได้เกิดเป็นเทพบุตรในชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพย์สมบัติ มีบริวารเป็นนางฟ้าด้วยผลบุญในการทอดกฐินครั้งนี้

กฐินทาน มีผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่จะนับประมาณมิได้ ทั้งจะให้บุคคลผู้บริจาคสิ้นจากทุกข์ภัย พ้นจากความพิบัติและยากจนขัดสน จนได้ล่วงถึงพระอมตมหานิพพานในอวสานชาติที่สุด จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะพร้อมใจกันประกอบตามประเพณีการทอดกฐินนี้ ซึ่งนอกจากจะได้บำเพ็ญกุศลอันมีผลานิสงส์มากยิ่งแล้ว ยังจะได้ชื่อว่าได้รักษาประเพณีที่บรรพบุรุษของเราได้ กระทำกันมาจนถึงพวกเราเหล่าลูกหลานทุกวันนี้ และยังได้ชื่อว่าช่วยกันดำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติไทยของเราอีกด้วย